แทบทุกครั้งที่มีข่าวชื่นชมความสวยสะพรั่งของเหล่าสาวข้ามเพศทั้งหลาย บ่อยครั้งที่เรายังคงเห็นการแสดงความเห็นในเชิงชมเชยที่แฝงไปด้วยมาตรวัดความเป็นคน “คุณภาพ” เช่น ต้องสวยเหมือนผู้หญิงจริง ต้องหุ่นดีเพรียวบาง ต้องมีการศึกษาที่ดี ต้องมีการวางตัวที่ดี อ่อนหวาน ถึงจะได้รับการยอมรับและถูกจัดให้เป็นสาวข้ามเพศที่ “มีคุณภาพ”
นานมาแล้วที่รสนิยมการรักเพศเดียวกันของมนุษย์บางกลุ่ม ทำให้สังคมมองคุณค่าความเป็นคนของพวกเขาต่างไปจากเหล่า“ชายจริงหญิงแท้” จนกลายเป็นภาพจำในสังคมว่าการจะเป็น LGBTQ+ ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับกลุ่ม Heterosexual นั้นต้องประกอบไปด้วยปัจจัยที่วัดจากความสำเร็จทั้งด้านการศึกษา การงานและการเงิน ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากกลุ่มชายจริงหญิงแท้เลยด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็นว่า กว่าที่พวกเขาจะใช้ชีวิตได้อย่างภาคภูมิในความเป็นตัวเอง จะต้องผ่านพิธีกรรมพิสูจน์ตนว่า “ดีพอ” เสียก่อน
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในกรณีของกลุ่มคนข้ามเพศที่ตัดสินใจเปลี่ยนเพศสภาพโดยกำเนิดของตนให้ไปเป็นเพศตรงข้าม เรายิ่งเห็นความเข้มข้นของพิธีกรรมที่ใช้วัดค่าความเป็นคนดีตามบรรทัดฐานของสังคมมากขึ้นไปอีก ในไทยเองพบเห็นได้บ่อยๆ กับสาวประเภทสองที่จะต้องเรียบร้อยสวยหวานถึงจะได้รับการยกย่องว่ามีคุณภาพ แม้ว่าแท้จริงแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าสิทธิ์และการยอมรับที่เท่าเทียมกับชายจริงหญิงแท้
อย่างแรกที่เริ่มได้ง่ายที่สุดนั้นก็คือการให้สิทธิ์สมรสเท่าเทียมอย่างถูกกฏหมาย และพึงระลึกไว้ว่าคนเหล่านี้ก็คือคนปกติธรรมดา สามารถทำผิดพลาดได้ สามารถเป็นคนดีเลิศได้ สามารถเป็นคนธรรมดาๆ ก็ได้ สามารถเป็นยอดอัจฉริยะก็ได้ เพียงแค่พวกเขามีรสนิยมทางเพศที่ต่างจากชายหญิงปกติเท่านั้นเอง
Story by KANt N.