หลังจากการเข้าฉายของ “Barbie” ภาพยนตร์แฟนตาซีที่หลายคนตั้งตารอก็ปรากฏออกมาแล้วว่าผู้บริโภคยังคงให้การตอบรับความบันเทิงแบบตลกร้ายได้เป็นอย่างดี การันตีด้วยรายได้ที่พุ่งทะลุหลัก 1 ล้าน USD สร้างสถิติเป็นหนังรายได้พันล้านเรื่องแรกในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลกที่กำกับโดยผู้หญิงให้กับ Greta Gerwig ผู้กำกับคนเก่งที่ควบตำแหน่งผู้เขียนบทในเรื่องนี้ด้วย

บอกเล่าเรื่องราวพร้อมสปอยล์เล็กน้อย Barbie นั้นเล่าถึงชีวิตตุ๊กตาสตรีสุดไอคอนิกของเด็กผู้หญิงทั่วโลกที่ก็ชื่อบาร์บี้นั้นแหละ (รับบทโดย Margot Robbie) ซึ่งอาศัยอยู่ใน Barbieland ดินแดนแห่งความฝันอันเลิศหรูชมพูสะพรั่งพร้อมกับเหล่าบาร์บี้อื่นๆ ที่เป็นตัวแทนตุ๊กตาบาร์บี้ในแต่ละสาขาอาชีพทั้งนักเขียน นักวิทยาศาสตร์ นักการเมืองและอีกหลากหลายตามที่ Mattle บริษัทผู้ผลิตเคยผลิตมาขาย ชีวิตของบาร์บี้นั้นสุดจะเพอร์เฟคเพราะว่าเธอคือคลาสสิกบาร์บี้ เป็นบาร์บี้แบบประเพณีนิยมถูกต้องตามมาตราฐานความสวยของปลายยุค 50s ที่เป็นสาวผมบลอนด์ตาฟ้าสูงเพรียวหุ่นสะบึม จนกระทั่งวันนึงเธอเกิดมีเซลลูไลท์ขึ้นมาที่ต้นขาจนทำให้ต้องออกผจญภัยในโลกความจริงเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เพอร์เฟคเหล่านี้ให้หมดไป
แล้ว Ken ที่รับบทโดย Ryan Gosling นั้นเป็นใครในโลกของบาร์บี้ คำตอบง่ายๆ ขึ้นมาตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่าเคนก็คือเคน เพราะเคนก็เป็นแค่เคนไงล่ะ (“She’s everything. He’s just Ken.”) ก่อนจะเล่าต่อว่าเคนเป็น “เฝื่อน” หรือมากกว่าเพื่อนแต่ก็ไม่ใช่แฟนของบาร์บี้ (แต่จริงๆ แล้วตุ๊กตาเคนถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นแฟนของบาร์บี้) เคนเปรียบเสมือนดอกไม้ริมทาง ส่วนบาร์บี้ก็คือสายฝนที่โปรยปรายลงมาสร้างความสดชื่นให้ดอกไม้ เขาขอติดตามบาร์บี้ไปผจญภัยในโลกความจริงก่อนจะพบว่าโลกจริงๆ ของมนุษย์นี่แหละที่มันทำให้เขาไม่ได้เป็นแค่ Just Ken อีกต่อไป เพราะนี่คือโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ไม่ใช่ผู้หญิงเป็นใหญ่อย่างใน Barbieland
ตัวหนังเองไม่ได้แสดงความเป็นเจ้าลัทธิสตรีนิยมสุดโต่งจนทำให้คนดูอาจรู้สึกว่า “Woke” หรือร้อนวิชาจนน่ารำคาญ แต่ค่อยๆ สอดแทรกมุกตลกเสียดสีพอแสบๆ คันๆ ไว้อย่างโจ่งแจ้ง และก็มีบางฉากที่พูดตรงๆ ถึงความลำบากของสตรีในโลกปัจจุบันที่ถูกวางไว้ด้วยกรอบว่าต้องเก่ง ต้องสวย ต้องอดทนแต่ต้องทำทั้งหมดโดยที่ไม่ขโมยซีนผู้ชาย
นอกเหนือจากความสวยหล่อที่ดูเพอร์เฟคไปทั้งหมดของเคนและบาร์บี้แล้ว ปัญหาเหมือนกันของทั้งคู่ที่หนังฉายให้เห็นก็คือพวกเขาไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองต้องการอะไรในชีวิต เคนที่หนังฉายให้เห็นก็คือนอกจากเป็นเคน ดอกไม้ประดับของบาร์บี้แล้ว เขาไม่เคยเห็นภาพอะไรอีกในชีวิต แม้กระทั่งจะได้ไปเจอโลกแห่งความจริงที่ขับเคลื่อนด้วยพลังเพศชายแล้ว แต่เคนก็ยังกลับมาทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะบาร์บี้ใน Barbieland อยู่ดี เคนไม่ได้สมาทานกับความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ขนาดนั้น เคนไม่มีความฝัน ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ไม่เคยรู้ว่าถ้าไม่มีบาร์บี้เขาจะอยู่อย่างไร ส่วนบาร์บี้ก็มีความทุกข์ใจคือเธอรู้ว่าเธอคือใคร เธอไม่มีทางเป็นบาร์บี้ที่มีอาชีพการงานเหมือนบาร์บี้อื่นๆ ได้ เพราะเธอเป็นคลาสสิกบาร์บี้ที่ดีแต่สวยไปวันๆ
ความไม่รู้ตัวของทั้งเคนและบาร์บี้ทำให้เรานึกถึงภาพยนตร์สุดไอคอนิกอีกเรื่องนั้นก็คือ The Devil Wears Prada ที่แม้ว่า Andy Sachs จะฝ่าฟันทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นหรูหราที่ “A million girls would kill for this job” พร้อมได้ใช้ชีวิตแบบ “Everybody wants this. Everybody wants to be us” จนได้รับคำชมทั้งจากเพื่อนร่วมงานและเจ้านายสุดโหดอย่าง Miranda Priestly แล้ว แต่สุดท้ายเธอพบว่านั้นไม่ใช่ชีวิตอย่างที่เธอต้องการและเธอรู้มาตลอดจนตันสินใจโยนรองเท้าบู้ต CHANEL ทิ้งไปแล้วออกตามหาความฝันการเป็นนักข่าวจริงๆ
Barbie ไม่ได้จบลงด้วยการยกประเด็นว่าเพศไหนเป็นใหญ่เหนือใคร แต่จบลงด้วยการออกเดินทางความหาความหมายของชีวิตที่หมายถึงการแยกทางกันระหว่างเคนและบาร์บี้ บาร์บี้ย้ำชัดว่าเคนต้องเลิกผูกชีวิตของเขาไว้กับเธอได้แล้ว ส่วนเธอเองก็เลือกที่จะทิ้งความสุขสวยหรูในดินแดน Barbieland แล้วออกไปใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริงที่อาจนำความแก่ชรามาสู่เธอได้เหมือนกัน
มีงานศึกษาและรายงานข่าวจากสถาบันการศึกษาวิจัยหลายชิ้นงานที่ระบุว่าคนเจน Z และกลุ่ม Millennials มีอาการ ”หมดไฟ” ในชีวิตมากกว่าคนเจนเนอร์เรชั่นอื่นๆ ในยุคปัจจุบัน โดยเกิดจากสาเหตุหลักๆ คือเรื่องค่าครองชีพสูงและสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยรวมถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ผลคืออัตราการเกิดในหลายๆ ประเทศลดลงแล้วถูกแทนที่ด้วยการกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (เหมือนเช่นประเทศไทย) เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่าจะสามารถประคองตัวให้มีครอบครัวได้หรือเปล่า
Greta Gerwig หยิบเอาประเด็นความหมดไฟและว่างเปล่าโหวงเหวงในจิตใจมาเป็นแก่นเรื่องของการสร้างบาร์บี้ให้มีชีวิตสอดแทรกด้วยปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศที่ผู้หญิงต้องเจอและนั้นคงเป็นสาเหตุที่หนังเรื่องนี้กินใจผู้หญิงและผู้ชมทุกเพศทั่วโลกที่กำลังสับสนในชีวิตจนทำให้รายได้ของหนังพุ่งไปแตะพันล้านได้อย่างสบายๆ
