หรือดราม่ามหาวิทยาลัยคือความปากว่าตาขยิบที่ไม่รู้จบในสังคมไทย?

นอกจากเรื่องคุณภาพการศึกษาแล้ว ราชภัฏยังมีจุดด้อยไหนอีกที่ไม่ควรมองข้าม และการพูดเรื่องเหล่านี้เป็นการดูถูกราชภัฏหรือไม่?
ความจริงแล้วดราม่าการเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องชวนเวียนหัว ไม่ควรถูกพูดถึง และควรจบลงนานแล้วด้วยการเห็นพ้องต้องกันว่า “เรียนมหาวิทยาลัยไหนก็ไม่เหมือนกัน” ลองพิจารณาด้วยตรรกะที่เรียบง่ายที่สุด หากคิดว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ความสามารถไม่ต่าง มีภาษีเทียบเท่า แล้วเหตุใดนักเรียนมัธยมไทยทั่วไปจึงมี “ความใฝ่ฝัน” หรือ “แรงบันดาลใจ” เป็นหมุดหมายที่ชัดเจนว่าอยากจะเข้าคณะชื่อดังในประเทศ อาทิ อักษรฯ-นิเทศฯ จุฬาฯ นิติฯ ธรรมศาสตร์ มัณฑณศิลป์ ศิลปากร หรือกระทั่งดั้งด้นไปสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ดังนั้นแทนที่จะมาโต้เถียงประเด็นที่ว่ากันอย่างไม่รู้จบ จะดีกว่าไหมหากเรามามองปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยที่ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นในเร็ววันนี้หรือภายในหนึ่งชั่วอายุคน และการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยเกรด C หรือ D เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันของ “ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม” (socioeconomic factors) คือเรื่องเงินและฐานะทางสังคมในกลุ่มประชากร แม้จะเป็นเรื่องที่รับรู้ได้โดยไม่ต้องพูดอย่างเป็นกิจจะลักษณะว่า เรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จด้านการศึกษาและการงาน แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ตระหนักว่าปัญญาสังคมทุกสิ่งอย่างล้วนโยงใยเป็นระบบก็ยังคิดว่า ถึงจะไม่มี ถ้าพยายามจริง ก็ประสบความสำเร็จได้ พร้อมยกตัวอย่างเรื่องราวเด็กบ้านนาสู้ชีวิตที่ตั้งใจเรียนจนได้รับทุน ได้รับโอกาสกระทั่งสามารถเลื่อนฐานะทางสังคมได้ คำถามคือ มีกี่คนกันที่จะเป็นแบบนี้ได้? แล้วทำไมเราจึงต้องออกแรงเยอะขนาดนั้นเพื่อให้ได้เรียนในที่ดีๆ ได้งานดีๆ?
งานวิจัยหลายเรื่องที่อ้างถึงในบทความ Education Gap Grows Between Rich and Poor ใน The New York Times (คลิก) ชี้ให้เห็นตรงกันว่า ความแตกต่างในเรื่องความสำเร็จของเด็กในสหรัฐฯ ที่มาจากครอบครัวฐานะดีกับไม่ดีนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีมากเสียยิ่งกว่าความแตกต่างในเรื่องเดียวกันระหว่างคนขาวกับคนผิวสีเสียอีก บ้านที่มีเงินสามารถสร้างต้นทุนการเรียนรู้ให้ลูกได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกีฬา สันทนาการ การเรียนดนตรี การเรียนพิเศษ ในขณะที่ครอบครัวรายได้ต่ำไม่มีทางที่จะสร้างต้นทุนเหล่านี้ให้ลูกได้ นอกจากนี้ ‘เงิน’ ในมิติเศรษฐกิจและสังคมที่ผูกโยงกับรัฐไทยก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหาสำหรับราชภัฏเองด้วยเหมือนกัน ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนใหญ่ได้รับงบไม่เกิน 500 ล้านบาท มีราชภัฏขนาดใหญ่เพียง 4 แห่งเท่านั้นที่ได้รับงบไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ในขณะที่จุฬาฯ มหิดล เชียงใหม่ เกษตรศาสตร์ ขอนแก่นได้รับงบเกิน 5,000 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ราชภัฏได้งบในกลุ่มไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เรื่องการจัดสรรงบประมาณเป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องพิจารณาจากขนาดสถานศึกษา จำนวนหัวผู้เรียน ความจำเป็น แต่การที่ราชภัฏส่วนใหญ่ได้รับการจัดสรรงบในกลุ่มเดียวกันทั้งหมดคือกลุ่มที่ได้รับงบน้อยที่สุด ก็ชวนให้คิดว่า การจัดสรรดังกล่าวสมเหตุสมผล-ยุติธรรมหรือไม่ ราชภัฏพอใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนไหม หรือถึงที่สุดแล้ว นี่คือความเท่าเทียมหรือไม่เท่าเทียม (ข้อมูลงบประมาณ คลิก)
แทนที่มิติต่างๆ ของราชภัฏจะเป็นบทสนทนาเปิดซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ว่าสิ่งนี้คือส่วนหนึ่งของปัญหาที่ดำรงอยู่ในสังคม “คุณภาพของมหาลัยที่จบ” ก็กลายเป็นเพียง “เรื่องซุบซิบในที่ทำงาน” ว่าด้วยความสามารถของบัณฑิตจากแต่ละสถาบันในด้านสื่อสารภาษาอังกฤษ ความรู้เท่าทันโลก ความคิดวิพากษ์ ฯลฯ ส่วนหน้าไมค์เมื่อมีการพูดคุยถกเถียงประเด็นนี้ก็ต้องปล่อยเบลอป้องกันรถทัวร์มาลงจอด และทั้งหมดที่ว่ามานี้ สังคมก็น่าจะรับรู้อยู่แล้วว่าคือ “ความจริงที่เธอต้องฟัง ความจริงที่เธอแกล้งลืมมัน” แต่การณ์กลับเป็นว่า พอมีคนพูดถึงเรื่องนี้ สังคมดูรับไม่ได้ที่มีการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาและตีขลุมว่าเป็น “การดูถูกราชภัฏ” ทางออกของเรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่มีทางอื่นนอกจาก “ยอมรับความจริง”  เพื่อช่วยกันส่งเสียง ผลักดันเรื่องเม็ดเงินงบประมาณการศึกษาของภาครัฐให้สมเหตุสมผลขึ้น และการพูดถึงราชภัฏในเชิงเปรียบเทียบกับสถานศึกษาอื่นๆ ไม่ใช่การดูถูก ไม่ใช่การบูลลี่ หรือหากคุณมองว่าเป็นการดูถูก รับไม่ได้ ทุกที่เท่ากันหมด ห้ามไม่ให้ใครพูดถึงข้อด้อย คุณอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการซุกปัญหาเชิงโครงสร้างไว้ใต้พรมหรือไม่?

TAG

Related Stories

จิตวิญญาณของดินแดนอินโดจีนผ่านผู้คน ชุมชน อาหาร และโบราณสถานอันงดงาม ผ่านการเชื่อมโยงของสองรีสอร์ทหรู Amantaka หลวงพระบาง และ Amansara ในเสียมเรียบ
ปีใหม่นี้เตรียมฟังอัลบั้มเต็มชุดใหม่จากผู้ชายคนนี้ได้เลย
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ยังได้กล่าวกับสาวๆ BLACKPINK ว่าอยากจะชมโชว์ของพวกเธอหลังมอบเครื่องราชฯ อีกด้วย

Most Viewed

สร้อยทองคำขาวประดับอัญมณีรวม 964 เม็ด รังสรรค์ผ่านระยะเวลากว่า 450 ชั่วโมง
พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการทรงคุณค่า ประวัติศาสตร์ขององค์กรหกแผ่นดินยึดมั่นการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อประชาสังคม
สร้อยทองคำขาวประดับอัญมณีรวม 964 เม็ด รังสรรค์ผ่านระยะเวลากว่า 450 ชั่วโมง
พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการทรงคุณค่า ประวัติศาสตร์ขององค์กรหกแผ่นดินยึดมั่นการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อประชาสังคม
รีสอร์ทหรูแห่งใหม่ที่พร้อมมอบประสบการณ์การพักผ่อนระดับอัลตร้าลักชูรีท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

MORE FROM

จิตวิญญาณของดินแดนอินโดจีนผ่านผู้คน ชุมชน อาหาร และโบราณสถานอันงดงาม ผ่านการเชื่อมโยงของสองรีสอร์ทหรู Amantaka หลวงพระบาง และ Amansara ในเสียมเรียบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว