แต่ถ้าให้นับความลึกของปีกันจริงๆ แบรนด์ที่ถือว่าเก่าแก่มากที่สุดของโลกจริงๆ ต้องยกให้กับแบรนด์อเมริกันแบรนด์แนวคลาสสิคในแบบรีเทล ที่ชื่อว่า Brooks Brothers แบรนด์เสื้อผ้าใส่ง่ายตลอดกาลนี้ เปิดตัวที่ New York ในปี 1818 ก่อน Hermes ไปประมาณ 10 ปีเลยละ ในขณะที่ Loewe (1846) และ Cartier (1847) เฮ้าส์หรูหราจากมาดริด และปารีส ก็เปิดตัวตามมาในปี 1846 และ 1847
ต่อมาในปี 1853 และ 1854 โลกได้รู้จักกับอีก 2 แบรนด์ยิ่งใหญ่ จากฝากปารีส นั่นก็คือ Goyard และ Louis Vuitton ที่ยังคงความหรูหราและบินเหนือลมบนมาถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้น 2 ปี เมืองผู้ดีเกาะอังกฤษก็เปิดตัวแฟชั่นฮ้าส์นามว่า Burberry ในปี 1856 ในขณะที่โรม อิตาลี เลือกส่งแบรนด์จีเวลรี่เข้ามายังโลกแฟชั่นลักชัวรี่นามว่า Bulgari ที่ถือว่าเป็นท๊อปแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วตั้งแต่เปิดตัวในปี 1884
หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปีโลกก็ได้รู้จักไอคอนสตรีที่ต้องจดจำ นั่นก็คือ Jeanne Lanvin (1889) และ Coco Chanel (1909) ซึ่งรายหลังนั้น อาณาจักรของเธอแผ่ขยายไปไกลและครองใจคนทั่วโลกทุกเพศทุกเจนฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามมาติดๆ คือ Ermenegildo Zegna (1910) และ PRADA (1913) ซึ่งทั้ง 2 เฮ้าส์นี้ โดดเด่นเรื่องของเส้นใยและความเป็นเลิศในขั้นตอนการผลิตที่ยังคงยึดมั่นเรื่อยมาจากวันแรกจนถึงปัจจุบัน
ด้านแฟชั่นเฮ้าส์ที่เพิ่งจะร่วมมือกัน(จริงๆ แบรนด์ใช้คำว่า Hacking แทนคำว่า Collaboration) อย่าง Balenciaga และ Gucci ได้เปิดตัวให้โลกรู้จักหลังจากปราด้า 5 ปี ซึ่งคนแรกแจ้งเกิดมาในฐานะนักออกแบบเสื้อผ้า ส่วนอีกคนโดดเด่นในการผลิตเครื่องหนัง
Fendi ก่อตั้งขึ้นในปี 1925 ฐานะผู้ผลิตขนสัตว์และเฟอร์อันล้ำเลิศ และ Salvatore Ferragamo ก็แจ้งเกิดตามมาอีก 3 ปีให้หลังหลังจากนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มากำหนดทิศทางของการแต่งกายรวมถึงสไตล์และการใช้จ่าย ยุค Post-War แฟชั่นได้กับมาตื่นเต้นและหวือหวาอีกครั้ง ผ่าน 3 เฮ้าส์เก๋อย่าง Celine, Balmain, Dior (1945-1946)
ในขณะที่ช่วง 50s มีแฟชั่นเฮ้าส์หนึ่งเดียวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ นั่นก็คือ Givenchy (1952) และนับจากนั้น ถึง 8 ปี โลกแฟชั่นถึงได้ส่ง Valentino Garavani และ Yves Saint Laurent มาเรียกแสงไฟ
รวมถึง Bottega Venetta แบรดน์เก๋ที่เพิ่งจะลบไอจีตัวเองทิ้งและเพิ่งจัดแฟชั่นโชว์ลับๆ ไปไม่นานนี้ ก็ได้ตั้งแบรนด์ขึ้นมาในช่วงนี้ด้วยเหมือนกัน นั่นคือ 1966 ด้วยการเปิดตัว เทคนิคการถักอันถือเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ที่เรียกว่า intrecciato ที่แปลว่าไขว้หรือสาน นั่นเอง!
ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้จะกระจุกตัวอยู่ที่เดียวนั่นก็คือยุโรป ดังนั้นจึงต้องขอบคุณ Ralph Lauren และ Calvin Klein ที่เปิดหัวหาดแฟชั่นอเมริกาได้สำเร็จในปี 1967 และ 1968 ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง แบรนด์มินิมัลเก๋สุดขีดอย่าง Jil Sander ก็เปิดตัวขึ้นที่ Hamburg ด้วยเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 1969 โลกแฟชั่นได้เปิดประตูสู่เอเชีย ผ่าน Rei Kawakubo แห่ง Comme des Garçons
เราได้รู้จักอีกหลายๆ แบรนด์จี๊ด ที่ก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้าในเวลาอันรวดเร็ว ตั้งแต่ Rick Owens (1994) Supreme (1994) Raf Simons (1996) ไปจนถึง Chrome Hearts ในปี 1996 พ อก้าวเข้าสู่ 2000 โลกทั้งโลกเชื่อมต่อกันด้วยแฟชั่นแบบไร้พรมแดนแล้ว เราได้รู้จัก Stella McCartney (2001) ที่เหนียวแน่นและยึดมั่นในงานแฟชั่นสายกรีนที่เรายกสดุดีให้กับความเด็ดเดี่ยวของแบรนด์อย่างมากๆ เรารักในความเท่ แสบ แต่หรูหราของสองแฝดจาก The Row (2006) เรารักในความเก๋แบบไม่ต้องพยายามให้มากมายของ Jacquemus (2008) จนถึงรักในต้นแบบที่สายสตรีตยกให้เป็น King อย่าง Off-White (2012)
เราขอร่วมสดุดีให้กับทุกๆ แบรนด์แฟชั่นจากทั่วทุกมุมบนโลก (รวมถึงไทยด้วย) จากก่อนหน้าและปีต่อไปๆ เราขอสดุดีให้กับวงการแฟชั่น อุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมที่ไม่เพียงสร้างสรรค์ให้คุณสวยและหล่อขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นอุตสหกรรมที่หล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านๆ ให้มีแรงใช้ชีวิตบนโลกนี้อย่างสวยงามต่อไป