“ครูผมบอกว่าให้ไปทางเรือ จะได้เห็นสถานที่ที่แปลกแตกต่าง ผมเริ่มจากฮ่องกงต่อไปยังสิงคโปร์ ไซง่อน โคลัมโบ บอมเบย์ จิบูตี อียิปต์ สเปน มาร์เซย และสุดท้าย...ปารีส ทุกๆ ที่ล้วนสร้างความประทับใจให้แก่ผม อาจจะเป็นเพราะนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศก็ได้ ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างเลยดูแปลกใหม่สำหรับผม”
- Kenzo Takada
แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการใช้ชีวิตในต่างแดนของชายผู้พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เลย เคนโซเดินทางมาถึงปารีสในช่วงฤดูหนาว และมีเงินติดตัวเพียงน้อยนิด เขาเดินแกร่วอยู่แถวย่านฌ็องเชลิเซ่และแซงต์แฌร์แม็ง ก่อนจะได้ที่พักเป็นห้องเล็กๆ ที่ไม่มีห้องน้ำห้องครัวในราคาคืนละเก้าฟรังก์ใกล้ๆ กับสถานี Place de Clinchy และใช้เวลาเรียนภาษาฝรั่งเศสอาลิยองซ์ฟรองเซ่นานหลายเดือน ก่อนจะได้งานทำที่ Pisanti Textile Group ไปพร้อมๆกับการขายภาพสเก็ตช์แบบแฟชั่นให้กับห้องเสื้อต่างๆในปารีสจนกระทั่งในปี 1970 เคนโซตัดสินใจเปิดร้านของตัวเองในชื่อ ‘Jungle Jap’ ใน Galerie Vivienne Arcade ชื่อของร้านได้แรงบันดาลใจมาจากภาพเพนท์ The Dream ของ Henri Rousseau ซึ่งเป็นภาพวาดภาพแรกที่เขาเห็นเมื่อมาใช้ชีวิตในปารีสและตกหลุมรักภาพนั้น เขาตกแต่งร้านเอง เพนท์ภาพบนผนังร้านเอง เพราะไม่มีเงิน และโชว์ครั้งแรกของเคนโซก็เกิดขึ้นที่นี่ ก่อนที่เขาจะย้ายร้านไปยังที่ 18 Passage Choiseul ที่ซึ่งชื่อของเคนโซเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนเมื่อในปี 1971 ที่เสื้อของเขาได้ขึ้นปกนิตยสารแอลฝรั่งเศสฉบับเดือนกันยายน และในปีนั้นเอง โชว์ของเขาก็เริ่มมีเอดิเตอร์จากทั่วโลกเดินทางมาชม“ตอนที่ผมเปิดร้าน ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทำเสื้อผ้าในแบบที่ดีไซเนอร์ฝรั่งเศสทำ เพราะผมทำแบบนั้นไม่ได้ ผมจึงทำในแบบของผม ทำให้แตกต่าง ผมใช้ผ้ากิโมโนและแรงบันดาลใจจากหลากหลายที่ในการทำเสื้อผ้า”
- Kenzo Takada
เคนโซ ทาคาดะ เป็นที่รู้จักด้วยสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร ด้วยลวดลาย สีสัน และแพตเทิร์นของเนื้อผ้าที่เป็นการผสมผสานโลกตะวันตกและตะวันออก แม้กระทั่งโลกทั้งโลกไว้ด้วยกัน อันเป็นสิ่งที่บังเอิญที่เกิดขึ้นจากการที่เขาซื้อผ้าจาก Marché Saint-Pierre ร้านนำเข้าผ้าที่ตั้งอยู่ในเขต 18 ในปารีสผ้าในราคาที่เขาสามารถซื้อได้ในขณะนั้นซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผ้าลายดอกไม้จากญี่ปุ่นแต่เมื่อนำมาสร้างสรรค์ในซิลูเอตต์เสื้อผ้าที่แปลกตาในแบบตะวันตกมันจึงกลายเป็นการผสมผสานที่ลงตัวและไม่เหมือนใครแต่ถึงอย่างไรชื่อแบรนด์ของเขายังคงใช้ชื่อว่า Jungle Jap ตามชื่อร้าน จนเมื่อในปี 1972 เคนโซ ทาคาดะ มีโอกาสได้ไปแสดงโชว์ครั้งแรกในนิวยอร์ก ที่ห้าง Macy’s ในวันนั้นเกิดเหตุการณ์ประท้วงของชาวญี่ปุ่นที่หน้าห้าง ซึ่งเขาเกรงว่าชื่อแบรนด์ Jungle Jap นั้นอาจจะทำให้เกิดความอ่อนไหวต่อการประท้วงของชาวญี่ปุ่น เขาจึงตกลงใจเปลี่ยนชื่อแบรนด์มาเป็น Kenzo และใช้ชื่อนี้นับแต่นั้นเป็นต้นมา
“เมื่อมองย้อนกลับไป ผมคิดว่ามันเป็นเพราะผมกำลังมองหาตัวตนบางอย่างในฐานะคนนอกที่ฉันต้องการนำสิ่งที่เป็นญี่ปุ่นเข้ามา มันแปลกที่แม้ว่าผมจะเป็นคนญี่ปุ่น แต่ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าผมเป็นนักออกแบบชาวฝรั่งเศส”
- Kenzo Takada
ผลงานการออกแบบของเคนโซ เป็นที่รู้จักด้วยแพตเทิร์น รูปทรง ซิลูเอตต์ที่แปลกตา ทั้งชุดกระโปรงทรงเต็นท์แบบจับสม็อก คอปกเสื้อแบบเหมา ชุดกระโปรงชั้นหลากหลายเลเยอร์ เสื้อกั๊กตัวหลวม เสื้อแขนทรงกิโมโน กางเกงทรงแบ๊กกี้ ชุดเดรสทัฟเฟต้า หรือซิกเนเจอร์ที่เป็นไอคอนิคอย่าง Big Look กระโปรงหรือกางเกงบานขนาดใหญ่ไร้โครง หรือแม้แต่ชุดเอี๊ยมขาช้าง การเล่นกับเลเยอร์ วอลลุ่ม และขนาดที่ไม่ได้ยึดติดกับแพตเทิร์นเสื้อผ้าในแบบตะวันตกหรือดีไซเนอร์ฝรั่งเศสในยุคนั้น คือสิ่งที่ทำให้เคนโซบุกเบิกทางสร้างสไตล์ของตนเองขึ้นมา พร้อมกับการใช้ลวดลายสีสัน เท็กซ์เจอร์ ที่สดใสโดดเด่นทั้งลายดอกไม้ ลายทางและการได้แรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมรอบโลกอันเป็นผลมาจากความชื่นชอบในการเดินทางของเขา คือคำนิยามที่มากล้นเกินกว่าจะนิยามและจำกัดความในความโดดเด่นของงานออกแบบของเคนโซ ทาคาดะ“เมื่อคุณออกแบบเสื้อผ้าให้คนทั่วไปสวมใส่ คุณต้องคิดถึงเรื่องการสวมใส่ใช้งานได้จริง มากกว่าการแนะนำไอเดียเรื่องแฟชั่น”
- Kenzo Takada
คอลเลกชั่น Around the World in Eighty Days ในปี 1986 ที่เขาได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางท่องเที่ยวและวัฒนธรรมทั่วโลกยังคงเป็นคอลเลกชั่นระดับมาสเตอร์พีซมาจนถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกันกับคอลเลกชั่นสุดท้ายในการทำงานของเขาปี 1999เคนโซ ทาคาดะ ขายแบรนด์ Kenzo ให้กับเครือ LVMH ในปี 1993 เพราะเขาไม่สามารถทำงานทำงานคนเดียวอีกต่อไปได้ พาร์ทเนอร์ในชีวิตของเขา Xavier เสียชีวิตในปี 1990 ตามมาด้วยพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่เป็นสโตรกและต้องหยุดการทำงาน เขาจึงตัดสินใจขายแบรนด์นี้ แต่ยังทำงานให้กับ Kenzo จนถึงปี 1999 จึงรีไทร์ตัวเองเมื่อเขาอายุได้ 60 ปีพอดีเคนโซ ทาคาดะ ใช้ชีวิตในช่วงการรีไทร์ออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก และทำานโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานออกแบบเสื้อผ้าไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องแก้ว เขาเริ่มวาดภาพและมีโอกาสได้เปิดแสดงโชว์ผลงานภาพเพนท์ทั้งที่ปารีสและมอสโคว์ เขากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ญี่ปุ่น แม้กระทั่งซื้อบ้านริมทะเลที่ภูเก็ตในประเทศไทยไว้พักผ่อน สำหรับเขาญี่ปุ่นคือบ้าน เช่นเดียวกันกับที่ปารีส
ในวันที่ 4 ตุลาคม 2020 ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นได้เสียชีวิตลงในวัย 81 ปี จากการติดเชื้อ Covid-19 ที่กรุงปารีสผลงานของเขาจะยังคงเป็นตำนานที่ตราตรึงวงการแฟชั่นไปตลอดกาล
Kenzo: Getty Images